อะไรซ่อนอยู่ใน “ชิพกับเดลขายถั่ว !?”
“ชิปกับเดลนี่สองพี่น้อง ขายของในคลอง ในกองเรามีแต่ถั่วดีๆ เพิ่งเด็ดสดๆ มากินให้หมด” นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าใครๆ ก็ต่างได้ดูและฟังเนื้อเพลงสุดฮิตของเจ้าสองพี่น้องชิปมังก์ “ชิปกับเดล”
ซึ่งเป็นท่อนเพลงที่เจ้าชิปกับเดลร้องขายถั่ว! ในการ์ตูน Mickey & Minnie Mouse ตอนใหม่ล่าสุด เรื่อง “Our Floating Dreams | A Mickey Mouse Cartoon | Disney Shorts” หรือในชื่อไทยว่า “ความฝันลอยน้ำของพวกเรา” ทาง YouTube Channel ซึ่งเป็นการดำเนินเรื่องภายในตลาดน้ำประเทศไทย
“แล้วอะไรซ่อนอยู่ในการ์ตูนสั้นเรื่องนี้ ?….”
สำหรับใครที่ได้ดูการ์ตูนสั้นเรื่องนี้ คงแอบมีคำถามที่หลายๆคนคงมีข้อสงสัยกันว่าทำไมมิกกี้กับมินนี่ต้องขายข้าวผัดกับถั่ว ? แทนที่จะเป็น ต้มยำกุ้ง ผัดไทย หรือแม้แต่ ทุเรียน ผลไม้ยอดฮิตที่ถือได้ว่าเป็นของขึ้นชื่อของไทย !
ดังนั้นผมจึงอยากจะแชร์มุมมองอื่นๆ จากในการ์ตูน เพื่อเป็นสาระความรู้ ควบคู่ความบันเทิง นอกเหนือจากความน่ารักของมิกกี้มินนี้ และความทะเล้นของเจ้าสองพี่น้องชิปและเดล ผมจะหาทุกคนเข้าไปแอบดู ว่ามีสาระความรู้และรายละเอียดอะไรที่ซ่อนอยู่ของการ์ตูนสั้นเรื่องนี้กันครับ !!
ส่วนของเนื้อเรื่องมีอะไรให้เราดูกันบ้าง
Q ทำไมมิกกี้กับมินนี่ ถึงต้องขายข้าวผัด กับสับปะรดล่ะ ทำไมไม่ใช่ต้มยำกุ้งหรือผัดไทย ?
ข้าวผัด : ทุกคนคิดว่าข้าวผัดเป็นของขึ้นชื่อของประเทศอะไรกันครับ ?
ข้าวผัด มาจาก ประเทศจีน ซึ่งดั้งเดิมนั้นคือข้าวผัดไข่ ที่จะเอาข้าวที่เหลือจากค้างคืนมาผัดรวมกับส่วนผสมอื่นที่หาได้ง่ายๆในบ้าน จะมีองค์ประกอบที่ไม่ซับซ้อนแต่ในภายหลัง เมนูข้าวผัดก็ถูกแพร่กระไปทั่วโลกตามการอพยพของชาวจีน และเกิดเป็นข้าวผัดที่มีหน้าตาหลากหลายรูปแบบตามสภาพเครื่องปรุงและลิ้นของคนในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป
สับปะรด : เพื่อนๆ คิดว่าสับปะรด เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของ ประเทศอะไร ? ไทย ?!
สับปะรด ถูกพบครั้งแรกในปี 1493 ตอนที่โคลัมบัสเดินทางไปที่เกาะ “กัวเดอลูป” (Guadeloupe) หลังจากที่โคลัมบัสนำกลับมาปลูกที่สเปน และเริ่มขยายพันธุ์อย่างกว้างขวางในปี 1600 โดยนักเดินเรือชาว สเปน และ โปรตุเกส จนถึงปี 1700 ในยุคสมัยของพระนารายณ์มหาราช สับปะรด ก็ได้เข้ามาในแผ่นดินสยาม (อาณาจักรอยุธยา) โดยการค้าขายผ่านพ่อค้านักเดินเรือชาวโปรตุเกส
จะเห็นได้ว่าการ์ตูนได้พยายามนำเอาอาหารที่เป็นที่เสมือนเป็นตัวแทนฝั่งตะวันออก และผลไม้ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของตะวันตก พยายามสอดแทรกเข้ามาเพื่อให้เห็นว่า สามารถผสานวัฒนธรรมทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออกเข้าด้วยกันได้
ส่วนของดนตรีประกอบมีอะไรให้เราไปแอบดู
ดนตรีประกอบในการ์ตูนความยาว 3 นาที 46 วินาทีนี้ มีอะไรน่าสนใจ ?
หากเราคิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้กำลัง “แสดงถึงความเป็นไทย” แล้วล่ะก็ อาจต้องคิดทบทวนใหม่ในเรื่องความการให้ความสำคัญของสัดส่วนและเวลาของดนตรีที่ใช้ประกอบ การ์ตูน นี้…
ใช่! ที่ในตอนต้นเรื่องนั้นเปิดด้วยทำนองและบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีที่มีกลิ่นอายคล้ายของไทย แต่!! เครื่องดนตรีจีน นั้นก็สามารถบรรเลงโน้ตและให้ความรู้สึกในลักษณะนี้ได้เช่นกัน และจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตามฉากที่เปลี่ยนไปดังนี้
ในนาทีที่ 2.40 หลังจากที่เรือของทั้งคู่ชนกัน (มีตัวด้วง 2 ตัวเป็นพยาน) อยากจะให้ทุกคนลองสังเกตถึงดนตรีที่ใช้ประกอบนี้เริ่มชัดเจนในการแสดงออกถึง Motif ใหม่ที่มีลักษณะออกไปในทางเอเชีย (ไม่บอกว่าเป็นไทยหรืออะไร) และพร้อมที่จะคลี่คลายในวรรคต่อไป
ในนาทีที่ 2.51 ช่วงที่ข้าวผัดสับปะรดลอยมา (ข้าวผัดและสับปะรดนั้นหมายถึง จีนและชาติตะวันตก) หากจะบอกว่าได้ยินเสียง “กรีด” หรือ “Glissando” คล้ายเสียงของ กู่เจิ้ง นั้นก็ไม่ผิดนี่เริ่มบ่งบอกถึงดนตรีในช่วงนี้ว่ากำลังจะสื่อไปถึงอะไร และชัดเจนที่สุดในวรรคต่อมา
ในนาทีที่ 2.59 ซึ่งเราจะได้ยินเสียงของเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์จากที่เห็นได้บ่อยๆในหนังจีนคือ “ขลุ่ย” มาพร้อมๆกับการ “กรีด” ของกู่เจิ้ง โดยมี “เครื่องสาย” หรือ “String” เล่นเสียงล้อกับทำนองโดยใช้ช่วงเสียงสูง (ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเพลงจีนหลังมีการนำเครื่องสายสากลกับดนตรีจีนผสมเข้าด้วยกัน)
และในช่วงที่สำคัญที่สุด หรือ Climax ของดนตรีนี้คือ นาทีที่ 3.17 ที่ทั้ง มิกกี้และมินนี่ ร่วมใจกันชู “ข้าวผัดสับปะรด” ขึ้นมาพร้อมๆกับดนตรีที่ “เฉลย” สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในออกมา ซึ่งจากเดิมที่มีการปูความเป็นจีนอยู่แล้ว ในวินาทีนี้เราจะได้ยินเสียงเครื่อง “Brass” หรือ “เครื่องลมทองเหลือง” ที่เรียกกันติดปากคนไทยว่า “แตร” นั่นล่ะครับซึ่งแน่นอนว่า เครื่องดนตรีเหล่านี้เป็นเครื่องดนตรีทางฝั่งตะวันตกทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่านอกจากภาพอาหารที่แสดงถึงสองชาติที่แตกต่างกันแล้วในตัวบริบทของดนตรีนั้นก็ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ Idea นี้เป็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ว่าด้วยเรื่องเนื้อร้องชิปกับเดล มีอะไรน่าสนใจ ?
อย่างแรก คือ คำร้อง ในช่วงชิปกับเดลนี้ถูกร้องโดย เสียงสังเคราะห์ (Auto-tune) จึงทำให้คำและความหมายค่อนข้างที่จะยากในการจับใจความ แต่ สิ่งที่ทำให้เพลงนี้ฟังดูตลกขบขันรวมถึงก่อให้เกิด “Ear-worm” นั้นมาจากเสียงวรณยุกต์ที่เพี้ยนไปจากคำพูดเดิมที่ “ไทยกลาง” ใช้กันโดยปกติ
“ชิปกับเดลนี่สองพี่น้อง ขายของในคลอง ในกองเรามีแต่ถั่วดีๆ เพิ่งเด็ดสดๆ มากินให้หมด”
จะเห็นว่าในประโยคนี้ไม่มีความผิดปกติใดๆทั้งสิ้น เราสามารถเข้าใจและอ่านออกเสียงได้อย่างถูกต้องชัดเจน แต่หากประโยคนี้ถูกนำไปใส่ในทำนองเพลงในช่วงชิปกับเดล จะให้เสียงวรรณยุกต์และความหมายเปลี่ยนไป เช่น
“ชิปกับเดลนี่สองพี่น้อง ขายของในคลอง” เพี้ยนเป็น
“ชิปกับเดลนีซองพี่นอง คายข๊องในคอง”
เราจะเห็นว่าจาก นี่ เป็น นี, สอง เป็น ซอง, พี่น้อง เป็น พี่นอง และ ขายของในคลอง เป็น คายข๊องในคอง ในมุมของนักแต่งเพลงก็นับว่าเป็นคำร้องที่ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่
จากทั้งหมดที่เล่ามานั้นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่พยายามนำหลักฐานที่หาได้และความรู้มาประกอบการวิเคราะห์
ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากเราดูการ์ตูนด้วยความเพลิดเพลินไม่คิดอะไร ก็คงได้แค่ความสนุกสนานบันเทิงชั่วคราว แต่หากมองในฐานะว่านี่คือ “สื่อ” ที่กำลังทำหน้าที่ส่งข้อความบางอย่างกับพวกเราแล้วมันคือ “Soft-Power” อย่างหนึ่งที่ถูกแฝงมาในรูปแบบของความบันเทิง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ทั่วไปอยู่แล้ว) และถ้าหากใครคิดว่าการ์ตูนนี้กำลังชื่นชม หรือ แสดงถึง “ความเป็นไทย” อยู่ล่ะก็ลองพิจารณาและกลับไปฟัง ใช้เหตุและผลในการรับชมใหม่อีกรอบ
เพราะอย่าลืมว่า “สื่อ” ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ชม ซึ่งย่อมมีเหตุผลและความหมายในตัวเองอย่างแน่นอน
แล้วคุณล่ะครับเห็นอะไรอีกใน …ชิปกับเดลขายถั่ว !